คาโมมายล์ หนึ่งในดอกไม้ที่คนนิยมนำมาทำให้แห้งแล้วชงดื่มเป็นชา หรือนำมาเป็นส่วนประกอบของน้ำมันหอมระเหย โดยเชื่อว่าอาจช่วยให้นอนหลับได้ดียิ่งขึ้น คลายความวิตกกังวล บำรุงระบบย่อยอาหาร และยังอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่มีคุณสมบัติต้านมะเร็งด้วย

1829 คาโมมายล์ rs

คุณประโยชน์ของคาโมมายล์

คาโมมายล์เป็นดอกไม้สมุนไพรในตระกูลเดียวกับเดซี่ พืชทั้ง 2 ชนิดนี้จึงมีรูปร่างหน้าตาค่อนข้างคล้ายคลึงกัน โดยมีดอกสีขาวและมีเกสรตรงกลางเป็นสีเหลือง ชาที่ชงจากดอกคาโมมายล์จะมีรสหวาน ไม่ได้ขมเหมือนชาเขียวและชาดำ เนื่องจากเป็นพืชที่ปราศจากคาเฟอีน จึงนับเป็นอีกตัวเลือกที่ดีสำหรับคนที่ต้องการหลีกเลี่ยงการบริโภคคาเฟอีน นอกจากนี้ คาโมมายล์ยังประกอบไปด้วยสารที่อาจมีฤทธิ์ช่วยเพิ่มความผ่อนคลายและอาจช่วยให้นอนหลับสบาย รวมถึงมีสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจป้องกันการเกิดโรคร้ายต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง และโรคหัวใจ เป็นต้น

คาโมมายล์ถูกนำมาใช้ประโยชน์เป็นยาสมุนไพรตามความเชื่อโบราณอย่างยาวนานและแพร่หลาย แต่ก็ยังมีหลักฐานทางทางวิทยาศาสตร์ค่อนข้างจำกัดเกี่ยวกับสรรพคุณที่แน่ชัดของมัน โดยมีการศึกษาวิจัยบางส่วนที่ค้นคว้าคุณสมบัติของคาโมมายล์ในด้านต่าง ๆ ไว้ ดังนี้

ช่วยให้หลับสบายยิ่งขึ้น

ตามตำรับยาแผนโบราณ คาโมมายล์เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะสมุนไพรที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและทำให้นอนหลับสบาย ซึ่งนักวิจัยคาดว่าคุณสมบัติดังกล่าวเป็นผลจากการมีสารต้านอนุมูลอิสระกลุ่มฟลาโวนอยด์อย่างอะพิจีนีนอยู่ในคาโมมายล์นั่นเอง

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีการพิสูจน์สรรพคุณด้านนี้ของคาโมมายล์ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งทดลองให้ผู้ป่วยอายุ 18-65 ปี จำนวน 34 คนที่มีอาการนอนไม่หลับมานานกว่า 6 เดือน บริโภคคาโมมายล์ครั้งละ 270 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 28 สัปดาห์ ผลลัพธ์พบว่าคาโมมายล์ช่วยให้ผู้ป่วยที่มีอาการนอนไม่หลับเรื้อรังเหล่านี้นอนหลับได้ดีขึ้นในระดับปานกลาง

ต่อมามีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ทดลองให้ผู้หญิงที่มีอาการนอนไม่หลับจากภาวะซึมเศร้าหลังคลอดบุตรจำนวน 40 คน ดื่มชาคาโมมายล์เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ในขณะที่ให้อีก 40 คน รับการรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบันตามปกติ ปรากฏว่ากลุ่มที่ดื่มชาคาโมมายล์มีอาการทางร่างกายที่เกิดจากการนอนไม่พอลดน้อยลง รวมถึงอาการของภาวะซึมเศร้าก็ลดลงด้วย

เช่นเดียวกับงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ที่ให้ผู้สูงอายุ 60 คน แบ่งกลุ่มรับประทานแคปซูลสารสกัดจากคาโมมายล์ 200 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลานาน 28 วัน ส่วนอีกกลุ่มรับประทานแคปซูลแป้งสาลี ซึ่งผลลัพธ์ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับงานวิจัยอื่น ๆ ก่อนหน้า โดยพบว่าผู้สูงอายุที่รับประทานคาโมมายล์นั้นนอนหลับได้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คาโมมายล์จึงอาจเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ แต่หากต้องการทดลองใช้อาหารเสริมจากคาโมมายล์ด้วยตนเองเพื่อบรรเทาอาการใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือกำลังใช้ยารักษาโรคต่าง ๆ อยู่

คลายความวิตกกังวล

การเครียดและวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ มากเกินไป อาจส่งผลให้สุขภาพจิตย่ำแย่และมีอาการเจ็บป่วยทางร่างกายเกิดขึ้นตามมาได้ เช่น นอนไม่หลับ กล้ามเนื้อเกร็งตัว ปวดศีรษะ เป็นต้น หลายคนจึงมองหาวิธีที่ช่วยบรรเทาความตึงเครียดดังกล่าว ซึ่งมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์บางส่วนชี้ว่าคาโมมายล์อาจเป็นตัวเลือกที่ดีในการช่วยบรรเทาความวิตกกังวลและลดภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งกล่าวสนับสนุนคุณสมบัติของคาโมมายล์ในด้านนี้ หลังทดลองให้ผู้ป่วย 57 คนที่มีภาวะวิตกกังวลหรือภาวะซึมเศร้ารับประทานแคปซูลสารสกัดคาโมมายล์ที่มีสารอะพิจีนีน 1.2 เปอร์เซ็นต์ แล้วพบว่าผู้ป่วยมีภาวะซึมเศร้าลดลงพอสมควร

จากงานวิจัยข้างต้น ผลการทดลองได้สอดคล้องกับงานค้นคว้าอีกชิ้นหนึ่งที่ทดลองในเวลาต่อมา โดยเป็นการศึกษาในผู้ป่วยโรควิตกกังวลทั่วไป ซึ่งโรคนี้ส่งผลให้ผู้ป่วยคิดมากเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องแทบทุกวัน ระหว่างเข้าร่วมการทดลอง ผู้ป่วยต้องรับประทานสารสกัดจากคาโมมายล์ครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 26 สัปดาห์ เมื่อสิ้นสุดการทดลอง พบว่าผู้ป่วยที่วิตกกังวลในระดับปานกลางถึงรุนแรงมีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ไม่พบว่ามีผลช่วยป้องกันการเกิดภาวะวิตกกังวลซ้ำแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เผชิญความวิตกกังวลหรือเกิดความเครียดได้ง่าย อาจลองใช้คาโมมายล์หรือผลิตภัณฑ์จากคาโมมายล์ได้เช่นกัน แต่ต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสมและปลอดภัยเสมอ

ดีต่อระบบย่อยอาหาร

นอกจากคุณสมบัติที่ช่วยให้ผ่อนคลายและช่วยในการนอนหลับแล้ว อีกสรรพคุณหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงอย่างแพร่หลายของคาโมมายล์ก็คือบรรเทาอาการท้องเสีย โดยมีความเชื่อมาช้านานว่าสมุนไพรชนิดนี้อาจมีสรรพคุณช่วยบำรุงระบบย่อยอาหาร บรรเทาอาการท้องเสีย ท้องอืด และการมีแก๊สในกระเพาะอาหารมากเกินไปได้

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งทดลองให้หนูกินสารสกัดคาโมมายล์ พบว่าสารสกัดดังกล่าวมีคุณสมบัติต้านอาการท้องเสีย ยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร และลดอาการปวดบีบของลำไส้ ซึ่งสรรพคุณของคาโมมายล์ด้านบรรเทาอาการท้องเสียยังปรากฏในงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ศึกษาในคนโดยตรงด้วย โดยเป็นการทดลองให้เด็กอายุ 6 เดือนไปจนถึง 6 ปี จำนวน 255 คน รับการรักษาอาการท้องเสียด้วยการกินสารสกัดที่มีส่วนผสมของคาโมมายล์และสารเพคตินจากแอปเปิ้ล ผลลัพธ์ชี้ว่าสารสกัดดังกล่าวอาจช่วยให้เด็กฟื้นตัวจากอาการท้องเสียได้เร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเหล่านี้ก็มีข้อกำจัดมากมาย เพราะยังมีการค้นคว้าจำนวนน้อยและส่วนใหญ่เป็นการทดลองในสัตว์ จึงไม่อาจบอกได้ว่าจะให้ผลแบบเดียวกันหรือไม่เมื่อนำมาใช้กับคน ส่วนงานวิจัยที่ทำในคนก็เป็นการใช้สารสกัดจากแอปเปิ้ลมาผสมด้วย จึงไม่อาจยืนยันได้ชัดเจนเช่นกันว่าผลลัพธ์ดังกล่าวเกิดจากสารสกัดจากคาโมมายล์หรือสารเพคตินในแอปเปิ้ลกันแน่ ซึ่งควรมีการศึกษาทดลองในด้านนี้ต่อไปจนกว่าจะพบผลลัพธ์ที่แน่ชัด

ต้านมะเร็ง

นักวิจัยคาดว่าสารต้านอนุมูลอิสระอะพิจีนีนที่อยู่ในคาโมมายล์อาจมีคุณสมบัติต้านเซลล์มะเร็งได้ เนื่องจากมีงานค้นคว้าบางส่วนชี้ว่าสารสกัดคาโมมายล์มีฤทธิ์ช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง ส่วนงานวิจัยในคนนั้นก็มีอยู่บ้าง โดยเป็นการทดลองระยะยาวที่ให้กลุ่มคนที่เสี่ยงเกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์อย่างผู้ที่เคยเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์มาก่อน 113 คน และผู้ที่มีเนื้องอกที่ต่อมไทรอยด์ 286 คน รวมทั้งผู้ที่มีสุขภาพดี 138 คน ดื่มชาคาโมมายล์สัปดาห์ละ 2-6 ครั้ง หลังจากผ่านไป 30 ปี พบว่าผู้เข้าร่วมทดลองมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์ลดน้อยลงถึงเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ จึงมีความเป็นไปได้ที่ชาคาโมมายล์อาจจะเป็นตัวเลือกสำหรับการใช้สมุนไพรเพื่อป้องกันโรคมะเร็งไทรอยด์ รวมถึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งในผู้ป่วยที่มีเนื้องอกไทรอยด์ได้ด้วย

ความปลอดภัยในการใช้คาโมมายล์

คนส่วนใหญ่บริโภคคาโมมายล์ในรูปแบบชา ซึ่งสามารถดื่มได้ทุกเพศทุกวัย แต่อาจทำให้รู้สึกง่วงซึมหลังดื่มได้ และหากดื่มในปริมาณมากเกินไปก็อาจทำให้อาเจียน ส่วนเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ หญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร และผู้ที่แพ้คาโมมายล์หรือพืชในตระกูลเดซี่ ต้องระมัดระวังในการใช้หรือการดื่มกินคาโมมายล์มากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคหรือการทาบนผิวหนัง เพราะอาจก่อให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงได้ และยังไม่มีหลักฐานรับรองได้อย่างชัดเจนว่าบุคคลในกลุ่มดังกล่าวจะบริโภคคาโมมายล์ได้อย่างปลอดภัยหรือไม่

นอกจากนี้ ผู้ที่ต้องการบริโภคหรือใช้คาโมมายล์ในรูปแบบใด ๆ เพื่อจุดประสงค์ทางการรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ทุกครั้ง โดยเฉพาะหากมีปัญหาสุขภาพอยู่ และควรจำกัดปริมาณการบริโภคให้เหมาะสมด้วย โดยปริมาณคาโมมายล์ในรูปแบบแคปซูลที่เคยมีการวิจัยแล้วพบว่าปลอดภัยนั้น มีตั้งแต่ 400-1,600 มิลลิกรัม หากบริโภคเป็นชาอาจดื่มวันละ 1-4 แก้ว โดยใช้คาโมมายล์ 9-15 กรัมต่อวันเท่านั้น และควรหลีกเลี่ยงการบริโภคคาโมมายล์พร้อมกับการใช้ยาวาร์ฟารินหรือยาไซโคลสปอริน เพราะอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อกัน และก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ ตามมาได้

 

เครดิต /// https://www.pobpad.com

431