• ข้อเข่าเสื่อมมักพบในคนที่มีอายุเฉลี่ยตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เนื่องจากปัจจัยด้านฮอร์โมน แต่ปัจจุบันพบโรคข้อเข่าเสื่อมในคนที่อายุน้อยลง ซึ่งคนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยได้
  • ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมจะมีอาการปวดในข้อเข่า ข้อเข่าติดหรือฝืดตึง มีเสียงดังในข้อเข่า มีจุดกดเจ็บบริเวณเข่า ข้อเข่าบวมผิดรูป ซึ่งในแต่ละคนอาการอาจจะแตกต่างกันไป
  • การรักษา อาการข้อเข่าเสื่อม มีหลายวิธีซึ่งแพทย์จะประเมินระดับความรุนแรงของโรค แนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุด โดยจะพิจารณาการรักษาแตกต่างกันเป็นรายบุคคล เช่น แนะนำการออกกำลังกาย การฉีดน้ำเลี้ยงข้อเช่า การใช้ยา การทำกายภาพบำบัด หรือการผ่าตัด

โรคข้อเข่าเสื่อมนั้นเป็นรูปแบบของ “โรคข้ออักเสบ” ที่พบบ่อยมากที่สุด เนื่องจากข้อเข่าเป็นข้อต่อที่มีการใช้งานเยอะ และรองรับน้ำหนักของร่างกายโดยตรง โรคข้อเข่าเสื่อมเกิดจากภาวะที่กระดูกอ่อนผิวข้อเข่าเกิดอาการสึกหรอ ฉีกขาด และเสื่อมสภาพตามช่วงอายุและปัจจัยหลายๆ ด้าน เมื่อกระดูกอ่อนผิวข้อมีการสึกหรอมากขึ้น จึงก่อให้เกิดอาการปวดเข่าขึ้น และยังไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบในข้อเข่าอีกด้วย ซึ่งหากปล่อยให้มีอาการรุนแรง ผิวข้อมีความเสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ กระดูกข้อเข่าจะเสียดสีกันมากขึ้น ผู้ป่วยจะเจ็บในทุกจังหวะของการก้าวเดิน อีกทั้งข้อเข่าจะมีอาการติดแข็ง งอเหยียดได้ไม่สุด จึงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก

กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเป็น “โรคข้อเข่าเสื่อม”

โดยมากแล้ว จะพบผู้ป่วยที่มีข้อเข่าเสื่อมที่อายุเฉลี่ยตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เนื่องจากปัจจัยด้านฮอร์โมน กระดูก กล้ามเนื้อ ทั้งนี้ ปัจจุบันยังพบโรคข้อเข่าเสื่อมในคนที่อายุน้อยลงอีกด้วย ซึ่งคนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยได้ เช่น กลุ่มคนที่เคยได้รับบาดเจ็บบริเวณข้อต่อมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายหรืออุบัติเหตุที่ข้อเข่า กลุ่มที่รับประทานอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการมากๆ จนเกิดเป็นโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวมากเกินไป ทำให้เข่าต้องรับน้ำหนักที่มากยิ่งขึ้น หรือมีโรคประจำตัวเป็นโรคไขข้ออักเสบ เช่น รูมาตอยด์ หรือ เกาท์ กลุ่มโรคเหล่านี้จะทำลายกระดูกอ่อนไปเรื่อย ๆ จนทำให้เกิดปวดบวมและติดแข็งของข้อเข่าในท้ายที่สุด

อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม

โดยทั่วไปแล้ว อาการของโรคข้อเข่าเสื่อมมักจะค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างช้าๆ และความรุนแรงของโรคก็จะค่อยๆ เพิ่มมากยิ่งขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปด้วยเช่นกัน หากต้องการตรวจสอบดูว่าตัวเองมีอาการของโรคข้อเข่าเสื่อมหรือไม่นั้น สามารถสังเกตสัญญาณของโรคข้อเข่าเสื่อมได้ดังต่อไปนี้

  1. ปวดเข่า – ผู้ป่วยมีอาการปวดบริเวณข้อเข่าเป็นๆ หายๆ มามากกว่า 6 เดือน หรือมีอาการปวดหลังจากที่ได้ทำกิจกรรมที่มีแรงกดต่อผิวข้อเข่าเยอะๆ หรือเดินไกลๆ เช่น ตอนนั่งยองๆ นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ ขึ้นลงบันได เดินท่องเที่ยว หรือตอนนั่งในรถที่แคบๆ แล้วต้องนั่งงอเข่าอยู่เป็นระยะเวลานานๆ หากเป็นข้อเข่าเสื่อมในระยะแรกๆ หลังทำกิจกรรมนั้นแล้ว อาการปวดจะอยู่ไม่นาน และจะหายไปได้เอง แต่หากเป็นระยะปานกลางขึ้นไปแล้ว อาการปวดจะเป็นต่อเนื่อง หากไม่ได้ใช้งานข้อเข่า เช่น ตอนนอน ตอนนั่งพัก ก็ยังมีอาการปวด และไม่สามารถหายเองได้ หรือหากหายก็ไม่หายขาด
  2. ข้อเข่าติด ฝืดตึง – สามารถสังเกตได้ตอนตื่นนอนว่า มีอาการฝืดตึง เข่าติด เคลื่อนไหวลำบากในตอนเช้า น้อยกว่าหรือเท่ากับ 30 นาทีหรือไม่ หรือหากไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายสักพักแล้วจึงกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง อาจมีอาการฝืดตึง รู้สึกว่าข้อต่อขาดความยืดหยุ่น หรือมีอาการข้อเข่าติดเมื่อทำการยืดเหยียดหรืองอเข่าจะรู้สึกทำได้ไม่สุด
  3. มีเสียงในข้อเข่า – มีเสียงดังกรอบแกรบในข้อเข่าในขณะที่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย มีการงอหรือเหยียดเข่า
  4. มีจุดกดเจ็บบริเวณข้อเข่า – เมื่อใช้มือกดตรงบริเวณข้อเข่า จะรู้สึกว่าเจ็บ
  5. ข้อเข่าผิดรูป – สังเกตได้ว่ากระดูกบริเวณรอบๆ ข้อเข่าจะมีลักษณะโตขึ้น อาจมีปุ่มกระดูกยื่นออกมา หรือมีข้อเข่าโก่งผิดรูปได้
  6. มีอาการบวม – บริเวณข้อเข่าจะมีอาการบวม เมื่อสัมผัสจะรู้สึกว่าเข่าอุ่น ซึ่งเกิดจากการอักเสบที่เกิดขึ้นภายในข้อเข่า ทั้งนี้ อาการนี้จะเกิดขึ้นเมื่อข้อเข่าเสื่อมเข้าสู่ระยะปานกลางไปแล้ว

ข้อเข่าเสื่อม อาการที่ควรพบแพทย์

หากผู้ป่วยมีอาการข้างต้นเป็นๆ หายๆ มานานตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป และรับประทานยาแก้ปวดแล้วยังไม่ดีขึ้น หรือจำเป็นต้องรับประทานยาแก้ปวดหรือแก้อักเสบอย่างต่อเนื่อง เพื่อระงับอาการปวด  ควรเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อโดยเร็วก่อนที่จะมีอาการรุนแรง เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมที่สุด

แนวทางการวินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อม

  1. การคัดกรองเบื้องต้น – การทำแบบประเมินภาวะข้อเข่าเสื่อมเบื้องต้นสำหรับผู้รับบริการทั่วไป หากสงสัยและไม่แน่ใจว่าตนเองอาจมีอาการข้อเข่าเสื่อม เช่น มีอาการเข่าติดในตอนเช้า เข่ามีเสียงกรอบแกรบ เข่าผิดรูป หรือไม่ สามารถทำแบบประเมินอาการข้อเข่าเสื่อมเบื้องต้นได้ ที่นี่
  2. การตรวจวินิจฉัยข้อเข่าของผู้ป่วย ทำได้โดย
    • การส่งตรวจเอกซเรย์ เพื่อหาช่องว่างระหว่างกระดูกในข้อเข่าของผู้ป่วยว่ามีช่องว่างเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด รวมไปถึงการตรวจหาปุ่มกระดูกที่อาจเกิดขึ้นบริเวณรอบๆ ข้อเข่าได้ โดยปกติแล้ว แพทย์จะใช้การตรวจเอกซเรย์เป็นมาตรฐาน แต่อาจมีการสั่งให้ทำ MRI เพิ่มเติม ในกรณีที่ต้องการภาพของกระดูก เนื้อเยื่อ และกระดูกอ่อนรอบข้อเข่าที่ชัดขึ้น เพื่อวินิจฉัยแยกโรคอื่นๆ ออกไป
    • การเจาะเลือด ที่จะช่วยทดสอบและแยกแยะสาเหตุอื่นๆ ออกจากโรคข้อเข่าเสื่อม เช่น โรครูมาตอยด์ เป็นต้น
  3. Knee Scoring – แพทย์จะประเมินระดับความรุนแรงของโรคข้อเข่าเสื่อมของผู้ป่วย โดยใช้ระบบการให้คะแนน (Scoring) ที่เหมาะสม เป็นเครื่องมือในการประเมิน
  4. การรักษาข้อเข่าเสื่อมที่เหมาะสม – เมื่อแพทย์ประเมินระดับความรุนแรงของโรคข้อเข่าเสื่อมแล้ว จะแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วย โดยจะพิจารณาเริ่มการรักษาแตกต่างกันเป็นรายบุคคลไป เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละรายมีข้อบ่งชี้และข้อจำกัดที่แตกต่างกัน
    • การออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อต้นขาและกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า เพราะกล้ามเนื้อที่แข็งแรงจะช่วงพยุงข้อเข่า และถ่ายเทน้ำหนักจากข้อเข่ามาที่กล้ามเนื้อได้ดี ทำให้ข้อเข่าไม่ต้องรับน้ำหนักมากจนเกินไป
    • การรักษาทางชีวภาพ หรือ Biological Therapy ซึ่งเป็นเทคนิคทางการแพทย์ที่ใช้ในการรักษาอาการผิดปกติของกระดูกอ่อนและน้ำเลี้ยงข้อเข่า โดยจะทำการฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่า (Hyaluronic acid) เข้าไปเพื่อบรรเทาอาการปวดและลดอาการฝืดตึงของข้อเข่า หรือฉีด Platelet Rich Plasma (PRP) หรือสารสกัดจากเลือดที่มีความเข้มข้นของเกล็ดเลือดสูงกว่าปกติของผู้ป่วยเอง ก็ทำได้เช่นกัน
    • การรักษาด้วยการใช้ยา เพื่อลดอาการปวดข้อเข่าที่รบกวนชีวิตประจำวันของผู้ป่วย อาจจะเป็นแบบรับประทาน หรือแบบฉีดก็ได้
    • การทำกายภาพบำบัด เพื่อบรรเทาอาการปวดบริเวณข้อเข่า เช่น การทำอัลตราซาวด์ การใช้เลเซอร์รักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายของผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด
    • การผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้อง (Arthroscopic Surgery) คือ การผ่าตัดรูปแบบใหม่ โดยใช้กล้องวิดีโอขนาดเล็ก สอดเข้าไปในข้อเข่า และเชื่อมต่อสัญญาณเข้ากับจอภาพทีวี ทำให้เห็นส่วนต่างๆ ภายในข้อเข่าได้อย่างชัดเจน มักใช้วิธีนี้ในผู้ป่วยที่มีหมอนรองข้อเข่าขาด เอ็นข้อเข่าขาด กระดูกอ่อนแตก หรือข้อเข่าล็อค เป็นต้น ทั้งนี้แพทย์จะพิจารณาเป็นรายบุคคลไป
    • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (Arthroplasty) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดอาการปวด เพิ่มช่วงการเคลื่อนไหวของข้อเข่า และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยที่มีอาการข้อเข่าเสื่อม ทั้งนี้ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ปัจจุบันทำได้ 2 วิธี คือ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งหมด และ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน ซึ่งแต่ละวิธีมีข้อบ่งชี้และข้อจำกัดแตกต่างกันออกไป

หากเริ่มมีอาการข้อเข่าเสื่อม ควรปรึกษาแพทย์

อย่างไรก็ตาม อาจพบอาการปวดข้อเข่าและอาการอื่นๆ ร่วมกันได้แตกต่างกันไปในแต่ละราย ทั้งนี้ หากผู้ป่วยเริ่มมีอาการข้อเข่าเสื่อม การเข้าพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับการตรวจประเมินและวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้ผู้ป่วยได้ประโยชน์จากการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุด

ยิ่งไปกว่านั้น หากผู้ป่วยมีการดูแลตัวเองที่ดี เช่น การควบคุมน้ำหนักไม่ให้มากจนเกินไป การออกกำลังกายเสริมกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าอยู่เสมอ และการหลีกเลี่ยงท่าทางที่มีแรงกระทำต่อเข่ามากๆ ก็จะเป็นส่วนช่วยลดอาการปวดเข่าและช่วยดูแลข้อเข่าให้อยู่กับเราไปได้นานๆ ด้วยเช่นกัน

เครดิต // https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1-%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3

371