หากใครผ่านถนนเส้นมิตรภาพ เรียบอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา ก็คงจะเคยเห็น “กังหันลมลำตะคอง” ของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ตั้งตระหง่านอยู่บนเขายายเที่ยง 14 ต้น ซึ่งกังหันลมผลิตไฟฟ้าต้นใหญ่ๆ เหล่านี้ ต้องมีการบำรุงรักษาเพื่อให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง วันนี้ ขอพาไปดูว่ากังหันลมนั้น มีจุดสำคัญจุดไหนบ้างที่ต้องใส่ใจในการบำรุงรักษา

โรงไฟฟ้ากังหันลมลำตะคองชลภาวัฒนา กฟผ. ประกอบด้วยกังหันลมทั้งหมด 14 ต้น สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากถึง 27 เมกะวัตต์ ที่ผ่านมาได้รับการดูแลและบำรุงรักษาจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านไฟฟ้าและด้านเครื่องกลอยู่เสมอ ทั้งการบำรุงรักษาตามวาระและการบำรุงรักษาในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งการบำรุงรักษากังหันลมเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องทำหน้าที่บำรุงรักษาบนความสูงเสียดฟ้าที่ระดับความสูง 94 เมตรจากพื้นดิน ความสูงระดับนี้ใคร ๆ ที่ได้เผชิญก็ต้องหวาดเสียวกันอย่างแน่นอน

การบำรุงรักษากังหันลมของ กฟผ. มีจุดสำคัญในการบำรุงรักษากังหันลม ประกอบด้วย ดุมและใบพัดกังหันลม (Hub and Blade) ห้องเครื่อง (Nacelle) โครงสร้างเสา (Tower) และ ตู้ควบคุม (Turbine Control)

ดุมและใบพัดกังหันลม (Hub and Blade) หรือส่วนที่อยู่บนสุดทางด้านหน้าของต้นกังหันลม ทำหน้าที่รับแรงลมผลักดันให้กังหันลมหมุน เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า โดยจะบำรุงรักษาระบบควบคุมการรับลมของใบพัด การขันยึดโครงสร้าง และเติมสารหล่อลื่นต่าง ๆ ในจุดที่มีการเคลื่อนตัว นอกจากนี้ยังมีการใช้โดรนตรวจสอบสภาพความเสียหายของใบกังหันลมและโครงสร้างเสา ว่าเกิดการเสียหายแตกร้าว หรือ พื้นผิวมีการหลุดลอกหรือไม่ โดยหากมีความเสียหายเยอะ จะโรยตัวตรวจสอบและซ่อมบำรุงแก้ไขสภาพความเสียหายเพิ่มเติมด้วย

ห้องเครื่อง (Nacelle) ที่มองเห็นเป็นลักษณะคล้ายกล่องใส่ของขนาดใหญ่ อยู่ด้านหลังของดุมและใบพัดกังหันลม ภายในประกอบไปด้วยอุปกรณ์ทางด้านไฟฟ้าและเครื่องกลจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ระบบเบรก ระบบเกียร์ ระบบส่งกำลัง เป็นต้น ที่คอยช่วยเปลี่ยนพลังงานจากลมเป็นกระแสไฟฟ้า ซึ่งทีมด้านเครื่องกลจะบำรุงรักษา ทั้งระบบเบรก ระบบควบคุมการหมุนของห้องเครื่อง วิเคราะห์คุณภาพน้ำมันและเติมสารหล่อลื่น รวมถึงการขันยึดโครงสร้าง

โครงสร้างเสา (Tower) ทำหน้าที่รองรับห้องเครื่อง (Nacelle) ดุมและใบพัดกังหันลม (Hub and Blade) ที่อยู่ด้านบน ต้องบำรุงรักษาโดยตรวจการขันยึดโครงสร้างของเสาแต่ละส่วนให้แน่นหนา เพื่อให้เป็นโครงสร้างที่มีความมั่นคง แข็งแรง แต่การยึดโครงสร้างกังหันลมขนาดใหญ่ไว้ด้วยกัน จำเป็นต้องใช้ Bolt และ Nut ขนาดใหญ่ตามไปด้วย จึงต้องใช้อุปกรณ์ช่วยขันให้แน่น ทีมผู้ทำหน้าที่บำรุงรักษาจึงต้องมีทักษะด้านการใช้เชือก การใช้รอก เพื่อส่งอุปกรณ์ที่มีความหนักขึ้นไปบำรุงรักษาได้

ตู้ควบคุม (Turbine Control) อยู่บริเวณพื้นด้านล่าง ใกล้ ๆ กันกับต้นกังหันลม ภายในบรรจุระบบควบคุมต่าง ๆ ระบบหล่อเย็น ระบบตัดไฟ รวมถึงระบบ Balance of Plant ซึ่งประกอบไปด้วยหม้อแปลงไฟฟ้า สวิตซ์เกียร์ และระบบป้องกันต่าง ๆ โดยระบบดังกล่าวเป็นส่วนประกอบสำคัญด้านไฟฟ้าที่ต้องดูแลบำรุงรักษาให้อุปกรณ์สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

ทั้งหมดนี้เป็นจุดสำคัญในการบำรุงรักษากังหันลมที่ต้องใส่ใจ โดยภารกิจบำรุงรักษากังหันลมนั้น นอกจากความเชี่ยวชาญในการบำรุงรักษาเฉพาะด้านแล้ว ด้วยการทำงานที่ความสูงถึง 94 เมตร ที่ทั้งสูง ทั้งเสียว ทั้งเสี่ยง ยังต้องมีร่างกายแข็งแรง จิตใจที่พร้อม และ สภาพอากาศ ฟ้า ฝน ลม ที่เป็นใจและเหมาะสมในการทำงาน อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการทำงานเป็นอันดับหนึ่งอีกด้วย ปัจจุบัน กฟผ. ยังพร้อมให้บริการงานบำรุงรักษากังหันลมกับโรงไฟฟ้าเอกชน เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าและการบำรุงรักษาพลังงานหมุนเวียน รองรับการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานสะอาด สร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าให้กับประเทศไทย โดยสามารถติดต่องานบำรุงรักษาได้ที่ฝ่ายจัดการธุรกิจ กฟผ. 02-436-7488

เครดิต // https://www.egat.co.th/home/20230425-art01/

#งานปรับปรุงต่อเติมอาคารโรงงาน  #งานระบบไฟฟ้าและสื่อสาร #งานระบบท่อน้ำและท่อลมสำหรับเครื่องจักร #งานระบบสุขาภิบาล #สินค้าIT

95