ลักษณะทางพฤกษศาสตร์  :  กระท่อมเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ปานกลาง มีแก่นเป็นไม้เนื้อแข็ง สูง10 -15 เมตร อยู่ในตระกูล Mitragyna speciosa ใบคล้ายใบกระดังงา มีชนิดก้านใบแดงและใบเขียว ดอกกลมโตขนาดเท่าผลพุทรา ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียว เรียงตัวเป็นคู่ตรงข้าม แผ่นใบกว้างประมาณ 5-10 ซม. ยาวประมาณ 8-14 ซม. ดอกมีสีขาวอมเหลืองออกเป็นช่อตุ้มกลมขนาด 3-5 ซม.

แหล่งที่พบ  ในบางจังหวัดของภาคกลาง เช่น ปทุมธานี แต่จะพบมากในป่าธรรมชาติบริเวณภาคใต้ เช่น สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูลพัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และตอนบนของประเทศมาเลเซีย

สารเสพติดที่พบในใบกระท่อม คือ  ไมทราไจนีน (Mitragynine) เป็นสารจำพวกอัลคาลอยด์ ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง (CNS depressant) เช่นเดียวกับยาเสพติดกลุ่มเดียวกัน เช่น psilocybin LSD และ ยาบ้า

สรรพคุณทางยา   สมัยโบราณ กระท่อมเป็นพืชที่ใช้เข้าเป็นตัวยาในตำรับพวกประเภทยาแก้ท้องเสีย ในสูตรยาของหมอพื้นบ้านหรือหมอแผนโบราณ เช่น ตำรับยาประสะกระท่อม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาขนาดนี้แล้ว เพราะมียาแผนปัจจุบันและแผนโบราณให้ผลเท่าเทียมหรือดีกว่าอีกทั้ง แม้ใบกระท่อมให้ผลการออกฤทธิ์ที่อาจมีประโยชน์ทางยาได้ แต่ทำให้เสพติดและมีผลเสียต่อสุขภาพ หากใช้ติดต่อกันนานๆ

วิธีเสพ  เคี้ยวใบสดหรือบดใบแห้งให้เป็นผง ละลายน้ำดื่ม บางรายเติมเกลือด้วยเล็กน้อยเพื่อป้องกันท้องผูก ส่วนมากจะเคี้ยวเพียง 2-3 ใบ และดื่มน้ำอุ่น หรือกาแฟร้อนตาม ใช้วันละ 3-10 ครั้งต่อวันตามอาการเหนื่อย  เมื่อใช้ไประยะหนึ่ง  ปริมาณการใช้จะเพิ่มขึ้น (ประมาณร้อยละ 37 ใช้วันละ 21-30 ใบ)

ผลจากการเสพ  พบว่าหลังเคี้ยวใบกระท่อมไปประมาณ 5-10  นาที  จะมีอาการเป็นสุข  กระปรี้กระเปร่า  ไม่รู้สึกหิว (ไม่อยากอาหาร)    กดความรู้สึกเมื่อยล้าขณะทำงาน  ทำให้สามารถทำงานได้นาน และทนแดดมากขึ้น  แต่จะเกิดอาการกลัวหนาวสั่นเวลาอากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝน  ผู้เสพจะมีผิวหนังแดงเพราะเลือดไปเลี้ยงผิวหนังมากขึ้น

อาการข้างเคียง  ได้แก่  ปากแห้ง  ปัสสาวะบ่อย  เบื่ออาหาร ท้องผูก  อุจจาระแข็งเป็นก้อนเล็กๆ  นอนไม่หลับ   ถ้าเสพใบกระท่อมในปริมาณมากๆ จะทําให้มึนงง และคลื่นไส้อาเจียน (เมากระท่อม)  แต่ในบางรายเสพเพียง 3 ใบ ก็ทำให้เมาได้  ในรายที่เสพใบกระท่อมมากๆ หรือเป็นระยะเวลานาน มักจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเม็ดสีขึ้นที่บริเวณผิวหนัง ทำให้ผู้ที่รับประทานมีผิวคล้ำและเข้มขึ้น และยังพบอีกว่าเสพกระท่อมโดยไม่ได้รูดเอาก้านใบออกจากตัวใบก่อน อาจจะทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า
“ถุงท่อม” ในลำไส้ได้ เนื่องจากก้านใบและใบของกระท่อมไม่สามารถย่อยได้ จึงตกตะกอนติดค้างอยู่ภายในลำไส้ ทำให้ขับถ่ายออกมาไม่ได้ เกิดพังผืดขึ้นมาหุ้มรัดอยู่โดยรอบก้อนกากกระท่อมนั้น ทำให้เกิดเป็นก้อนถุงขึ้นมาในลำไส้ บางรายจะมีอาการโรคจิตหวาดระแวง เห็นภาพหลอน คิดว่าคนจะมาทำร้ายตน และพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง

อาการเมื่อหยุดเสพ

  • ไม่มีแรง
  • ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและกระดูก
  • แขนขากระตุก
  • อ่อนเพลีย ไม่สามารถทำงานได้
  • อารมณ์ซึมเศร้า
  • นํ้าตาไหล นํ้ามูกไหล
  • ก้าวร้าว
  • นอนไม่หลับ
  • ร่างกายมีอุณหภูมิสูงผิดปกติ
  • ถ่ายอุจจาระเหลวมากปกติ
  • อยากอาหารยาก
  • อาเจียนคลื่นใส้
  • มีอาการไอมากขึ้น
  • กระวนกระวายมากขึ้น

การนำใปใช้ในทางที่ผิด   ปัจจุบันใบกระท่อมมีปัญหาการแพร่ระบาดในกลุ่มวัยรุ่นและนักเรียน   อาจเนื่องมาจากมีราคาถูกและทำให้เกิดอาการเคลิบเคลิ้มได้เช่นเดียวกับสารเสพติดอื่น  โดยมักนิยมนำน้ำกระท่อมต้ม ผสมกับโค้ก  ยากันยุง และยาแก้ไอ (4×100)

การควบคุมตามกฎหมาย

ปี พ.ศ. 2486  ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ประกาศควบคุมการใช้พืชกระท่อม โดยตราพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. 2486 ระบุห้ามปลูกและครอบครองรวมทั้งห้ามจำหน่ายและเสพใบกระท่อม

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522  กระท่อมเป็นพืชเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522

อ้างอิงข้อมูลจาก : https://mnfda.fda.moph.go.th

393